เด็กจะสูงเท่าไหร่เมื่อตอนโต

เด็กจะสูงเท่าไหร่เมื่อตอนโต

คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน คงอยากจะทราบว่าเมื่อลูกหรือหลานของเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะมีความสูงอยู่ที่ประมาณเท่าใด ลูกหรือหลานจะสูงหรือเตี้ยเหมือนใครหนอ หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัวเตี้ยจะทำอย่างไรให้ลูกสูงตามที่ต้องการได้ รวมทั้งน้องๆ ที่ยังอยู่ในวัยเด็กก็คงอยากจะรู้เหมือนกันว่าเมื่อตนเองโตจนเป็นผู้ใหญ่ แล้วจะสูงเท่าใด จะเป็นดารา นายแบบ นางแบบ ทหาร ตำรวจ แอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต หรือบางอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากบางอาชีพได้มีการกำหนดความสูงขั้นต่ำเอาไว้
  
        มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ได้แก่ กรรมพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสูงของเด็ก เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัวสูง ลูกก็มักจะสูง หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัวเตี้ย ลูกก็มักจะเตี้ย นอกจากกรรมพันธุ์จะเป็นตัวกำหนดความสูงของเด็กแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ได้แก่ ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ มีการออกกำลังกายที่พอเหมาะ ดูแลและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และการมีฮอร์โมนในร่างกายที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริมสุขภาพและ การเจริญเติบโตอยู่ในระดับปกติ
  
        โดยปกติแล้ว คุณหมอเด็กหรือกุมารแพทย์จะมีวิธีคาดคะเนความสูงสุดท้ายของเด็กเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้  2 วิธีใหญ่ๆ แต่วิธีที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือน้องๆ สามารถทำได้เองคือ การคำนวณความสูงสุดท้ายของเด็กจากความสูงของคุณพ่อคุณแม่ (Midparental height หรือ Target height) ซึ่งควรจะทำเมื่อเด็กมีอายุเกิน 4 ปี ขึ้นไป โดยสามารถคำนวณได้ดังนี้
       1.นำความสูงของคุณพ่อเป็นเซนติเมตรกับความสูงของคุณแม่เป็นเซนติเมตรมาบวกกัน 
        1.1   ถ้าเป็นเด็กชายให้เอา 13 มาบวกเพิ่ม แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารด้วย 2 จะได้ความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น เป็นเซนติเมตรของเด็กชาย
        1.2.  ถ้าเป็นเด็กหญิงให้เอา 13 มาลบออก แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารด้วย 2 จะได้ความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น เป็นเซนติเมตรของเด็กหญิง
        อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายทั้งของเด็กชายและเด็กหญิงจะอยู่เป็น ช่วง คือ จะอยู่ในช่วงของความสูงสูงสุดที่เป็นไปได้กับความสูงต่ำสุดที่เป็นไปได้ ดังนั้นให้นำผลลัพธ์ที่ได้จากข้อ 1.1 ของเด็กชาย และ 1.2 ของเด็กหญิง มาคำนวณต่อดังนี้

      2.หาช่วงของความสูงที่เป็นไปได้ โดย
      2.1.  สำหรับเด็กชาย ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1.1 มาถูกบวกเพิ่มด้วย 10 เซนติเมตร จะได้ผลลัพธ์เป็นความสูงสุดท้ายที่สูงสุดที่เป็นไปได้ และให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1.1 มาถูกลบออกด้วย 10 เซนติเมตร จะได้ผลลัพธ์เป็นความสูงสุดท้ายที่ต่ำสุดที่เป็นไปได้
      2.2.  สำหรับเด็กหญิง ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1.2 มาถูกบวกเพิ่มด้วย 9 เซนติเมตร จะได้ผลลัพธ์เป็นความสูงสุดท้ายที่สูงสุดที่เป็นไปได้ และให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1.2 มาถูกลบออกด้วย 9 เซนติเมตร จะได้ผลลัพธ์เป็นความสูงสุดท้ายที่ต่ำสุดที่เป็นไปได้
  
        ดังนั้นการคำนวณความสูงสุดท้ายของเด็กเมื่อเป็นผู้ใหญ่จากความสูงของคุณพ่อคุณแม่ สามารถเขียนสรุปเป็นสูตรได้ง่ายๆ ดังนี้
 
        การคำนวณความสูงสุดท้ายของเด็กเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จากความสูงของพ่อแม่ (Midparental height หรือ Target height)

       คุณหมอเด็กบางท่าน อาจจะอนุโลมใช้ + 7 ซม. หาช่วงของความสูงสุดท้ายของเด็กชายและเด็กหญิงเมื่อหยุดโตหรือเมื่อเป็น ผู้ใหญ่ เพื่อทำให้ความกว้างของช่วงของความสูงสุดท้ายของเด็กชายและเด็กหญิงแคบลง ดังนั้นจากตัวอย่างข้างต้นเมื่อคำนวณหาความสูงสุดท้ายโดยเฉลี่ยได้แล้วและ ใช้  + 7 ซม. จะได้ช่วงของความสูงสุดท้ายของเด็กชายและเด็กหญิงเป็นดังนี้

      ความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายของเด็กชาย จะอยู่ในช่วง 172 ซม. + 7 ซม. หรือความสูงสุดท้ายของเด็กชายจะอยู่ในช่วง 172 – 7 ซม. และ 172 + 7 ซม. คือ 165 – 179 ซม. และ  ความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายของเด็กหญิง จะอยู่ในช่วง 159 ซม. + 7 ซม. หรือความสูงสุดท้ายของเด็กหญิงจะอยู่ในช่วง 159 – 7 ซม. และ 159 + 7 ซม. คือ 152 – 166 ซม.
 
       ถึง ตอนนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงจะคำนวณความสูงโดยคร่าวๆ เมื่อลูกหรือหลานโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้วใช่ไหม หรือน้องๆ เองก็คงพอจะทราบแล้วว่าเมื่อตนเองโตเป็นผู้ใหญ่จะสูงเท่าใด อย่างไรก็ดีขอให้พึงเข้าใจว่านี่เป็นการประเมินความสูงในขณะนั้นๆ หรือความสูงเมื่อเด็กอายุเกิน 4 ปี ว่ามีแนวโน้มในอนาคตว่าความสูงเมื่อหยุดโตจะเป็นเท่าใด ซึ่งความเป็นจริงในอนาคตความสูงอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัย หลายอย่าง เช่น โภชนาการเกิน การได้รับฮอร์โมนที่ปนเปื้อนในอาหาร การเข้าสู่วัยรุ่นเร็ว การเพิ่มความสูงช่วงวัยรุ่นเป็นไปตามเกณฑ์ปกติหรือไม่ ดังนั้นเด็กควรได้รับการติดตามการเจริญเติบโตเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสนใจการเปลี่ยนแปลงทางกายว่าเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือไม่

        คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามดูการเจริญเติบโตของลูกเปรียบเทียบกันระหว่างพี่หรือน้องเพศเดียวกัน (พ่อแม่เดียวกัน) ที่มีความอ้วนผอมใกล้เคียงกัน หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าในความเป็นจริงแล้วในแต่ละช่วงอายุของลูกหรือหลานเรามี การเจริญเติบโตหรือความสูงที่ผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบตาม ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ควรจะรีบพาเด็กไปพบคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อฯ หรือน้องๆ เองก็อาจจะอนุโลมให้เปรียบเทียบกันกับกลุ่มเพื่อนๆ ที่อยู่ในวัยและเพศเดียวกันในห้องเรียนเดียวกันได้ และหากพบว่าตนเองมีการเจริญเติบโตหรือความสูงที่ช้าหรือเร็วผิดปกติจากกลุ่ม เพื่อนๆ โดยส่วนใหญ่อย่างเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อย่ารีรอปล่อยทิ้งไว้ ควรจะรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ให้พาน้องๆ ไปพบคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อฯ เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป และจะได้แก้ไขหรือหาทางป้องกันก่อนที่จะสายเกินกว่าจะแก้ไขได้นะคะ

 

view