เด็กกับการดูโทรทัศน์

เด็กกับการดูโทรทัศน์

เด็กกับการดูโทรทัศน์

“เนื่องจากสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ฟรีทีวี เคเบิ้ล หรือซีดี/ดีวีดี นับเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัยได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่หาได้น้อยนักว่าจะมีเด็กคนไหนไม่ชอบดูทีวี ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่เข้าใจว่า โทรทัศน์มีข้อเสียอย่างไรสำหรับเด็ก มองเห็นแต่ประโยชน์ว่า เด็กน่าจะได้เรียนรู้จากเรื่องราวต่างๆ ในโทรทัศน์ แต่จริงๆแล้วโทรทัศน์เป็นดาบสองคมสำหรับทุกคน และสำหรับเด็กแล้ว ดูจะเป็นดาบที่ย้อนมาทำลายมากกว่าให้ประโยชน์ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือมากเกินไป 


...รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก อาจช่วยสอนและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กในด้านภาษา ด้านมารยาทที่ดี หรือความคิดที่สร้างสรรค์  ยกตัวอย่างเช่นรายการ เจ้าขุนทอง ทุ่งแสงตะวัน เป็นต้น แต่รายการที่ดีเช่นนั้นมีอยู่น้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับจำนวนละครน้ำเน่า เกมส์โชว์ ในบ้านเรา แม้ปัจจุบันรายการโทรทัศน์บ้านเราจะมีการกำหนดวัย จัดเรตติ้งสำหรับคนดู เพื่อให้ผู้ปกครองพิจารณาก่อนให้ลูกดู แต่ความเป็นจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีน้อยครอบครัวเหลือเกินที่จะจำกัดตามนั้น ส่วนใหญ่จะปล่อยให้เด็กดูรายการเดียวกับผู้ใหญ่ไปเรื่อยๆ หรือหนักกว่านั้นคือ ให้โทรทัศน์เป็นพี่เลี้ยงลูก ในขณะที่ตัวเองทำงานอื่น ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง


...ผู้ปกครองบางท่านอาจคิดว่าการปล่อยให้ลูกนั่งดูโทรทัศน์ภายในบ้าน อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่าให้ลูกออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน จนลืมคำนึงไปว่าเด็กจะซึมซับอะไรมาบ้างจากโทรทัศน์ ซึ่งมีทั้งรายการที่ไม่เหมาะสม ละคร ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนที่มีเนื้อหารุนแรง มีการใช้ภาษาก้าวร้าวหยาบคาย มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เหล่านี้อาจทำให้เด็กจำไปเลียนแบบได้ ซึ่งเด็กวัยนี้เขายังไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าอะไรควร หรือไม่ควร  อะไรดี หรือไม่ดี เขาเห็นอะไรน่าสนุก น่าสนใจ ก็มักเอาไปทำตามอย่าง เช่น เห็นตัวการ์ตูนในโทรทัศน์หยิบดาบไล่ฟันกัน ก็เอาไม้เอาอะไรมาตีกันจนได้รับบาดเจ็บ บางคนก็ไปจำคำพูดที่ไม่ดี มาพูดกับเพื่อน ครู พ่อแม่ หรือแม้แต่ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น ไปเห็นฉากกอดจูบ ข่มขืน จากในละครโทรทัศน์ แล้วเอาไปเลียนแบบจนเกิดเป็นข่าวบ่อยครั้ง หนังหรือละครที่มีเนื้อหาก้าวร้าวรุนแรงเหล่านี้จึงมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้มาก อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้นกว่าปกติ และยังทำให้เด็กชาชินจนเรียนรู้และเข้าใจว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสังคมยอมรับ และนำไปทำตามอย่าง จนสุดท้ายกลายเป็นนิสัยและความคิดติดตัวไปตลอดชีวิต”


การที่บางครอบครัวปล่อยให้ลูกวัยเล็กดูโทรทัศน์อย่างไม่เหมาะสม หรือขาดการแนะนำที่เพียงพอ อาจจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างไรบ้าง 


“ผลเสียที่อาจเกิดกับเด็ก จากการดูโทรทัศน์มีหลายด้าน ในด้านที่เป็นปัญหามากในปัจจุบันคือ ผลกระทบต่อพัฒนาการภาษาของเด็ก เนื่องจากเด็กจะเรียนรู้การใช้ภาษาได้ ต้องมีการสื่อสาร 2 ด้าน คือ ได้มีการถามตอบ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การพูดคุยกับคนใกล้ชิด เช่นคุณพ่อคุณแม่หมั่นคุยกับลูกตั้งแต่แบเบาะ เด็กจะเรียนรู้ความหมายได้จากเหตุการณ์รอบตัว น้ำเสียงที่ใช้ เมื่อเค้าพยายามสื่อสารกลับและผู้ใหญ่รับรู้ตอบสนองก็ทำให้เค้าได้เรียนรู้ครบถ้วนทั้งการฟังและการพูด แต่กับการดูโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการสื่อสารด้านเดียว และภาษาที่ใช้ไม่ได้ทำเพื่อให้เด็กฟัง การพูดมักจะเร็วเกินไป ยากเกินไป ผู้ใหญ่หลายคนอาจแย้งว่า ถ้าเด็กไม่เข้าใจสิ่งที่โทรทัศน์พูดแล้วทำไมถึงยังชอบดู นั่งนิ่งๆได้เป็นเวลานาน จริงๆแล้วสิ่งที่เด็กสนใจคือ  แสง สี เสียง ในจอมากกว่า เด็กบางคนสามารถร้องเพลงโฆษณาได้ถูกต้องเป็นประโยคยาวๆ หรือพูดตามได้เป็นวลีที่ฟังดูบาก แต่เมื่อถามว่าเค้าเข้าใจสิ่งที่พูดหรือร้องหรือไม่ เค้าอาจจะไม่เข้าใจเลย การท่องจำคำพูดแต่ไม่อาจนำมาใช้สื่อสารได้จริง ไม่เรียกว่าเป็นพัฒนาการภาษาที่สมบูรณ์ 


…ผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมาธิของเด็ก ซึ่งการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์นานเกินไป เด็กจะชินกับการกระตุ้นมากๆ จากแสง สี เสียงในโทรทัศน์ ทำให้เขาไม่ชินกับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ หรือใช้ความอดทนรอคอย เช่นการฟังนิทาน การอ่านหนังสือ การวาดรูป ขาดสมาธิที่จะจดจ่อกับงานที่ทำน้อยลง เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนที่ต้องใช้สมาธิมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับประถมซึ่งต้องใช้ความนิ่ง การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เด็กก็อาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ศักยภาพของตนเองควรทำได้


...ผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก และปัญหาการกิน ซึ่งเด็กที่ติดโทรทัศน์ มักจะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงไปด้วย เช่นออกกำลังกาย เล่นกีฬา วิ่งเล่นกับเพื่อนน้อยลง ร่วมกับมักมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น มีนิสัยชอบทานขนมจุบจิบ หรือทานข้าวพร้อมกับดูโทรทัศน์ ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายต่ำลง มีงานวิจัยเรื่องโรคอ้วนในเด็ก หลายชิ้นที่พิสูจน์ชัดเจนว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มากจะมีโอกาสน้ำหนักเกินหรืออ้วนมากกว่าเด็กที่ดูน้อยถึง 3 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงกับโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น 


 ...ผลเสียอีกประการก็คื ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แทนที่พ่อแม่ลูกจะได้นั่งคุยกัน ได้ถามถึงการเรียนของลูก ถามถึงเพื่อนๆ ที่โรงเรียนว่าเป็นอย่างไร เรียนสนุกหรือไม่ ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง หรือพูดคุยเรื่องอื่นๆ กลายเป็นว่าเด็กไม่ค่อยได้พูดคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่ได้พูดคุยกับลูก ต่างฝ่ายต่างทำธุระ พ่อแม่ก็ปล่อยให้ลูกนั่งดูโทรทัศน์ไป ถึงเวลานอนก็พาเข้านอน เช้ามาก็ไปส่งที่โรงเรียน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็ลดน้อยลง เมื่อโตขึ้นเวลาเด็กมีปัญหา ก็อาจทำให้ขาดความไว้วางใจ ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ คิดตัดสินใจด้วยตนเองจนเกิดความผิดพลาดได้”

ลูกอายุใกล้ 2 ขวบควรจะให้เขาเริ่มดูโทรทัศน์ได้หรือไม่ และควรแนะนำให้เขาดูรายการใด


“เป็นไปได้ก็อยากแนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้าลูกอายุน้อยกว่า 2 ปีก็ไม่ควรให้เขาดูโทรทัศน์เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการดูไปพร้อมกับลูก หรือเปิดทิ้งไว้ให้ลูกดูก็ตาม เนื่องจากโทรทัศน์เป็นเสมือนดาบสองคม มีทั้งเนื้อหารายการที่เหมาะสมกับเด็ก และเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งก็จะช่วยพัฒนาพฤติกรรม จริยธรรม และความรู้แก่เด็กได้ แต่ขณะเดียวกัน รายการที่ไม่เหมาะสมก็มีมากกว่าหลายเท่า การปล่อยให้ลูกวัยต่ำกว่า 2 ปีดูโทรทัศน์ อาจจะส่งผลเสียอย่างชัดเจนในหลายด้าน
...แต่ทั้งนี้ ถ้าเด็กอายุเกิน 2 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้เขานั่งดูโทรทัศน์ได้ แต่ย้ำว่าไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรจะนั่งดูไปพร้อมกับลูกด้วยทุกครั้ง เพื่อพูดคุยซักถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขาดู จะได้ช่วยแก้สิ่งที่เห็นว่าผิด และแนะนำในสิ่งที่ถูก สิ่งที่เห็นว่าเขาสามารถนำไปทำตามอย่าง รวมทั้งเลือกรายการที่เหมาะสมกับวัยของลูก ซึ่งควรเป็นรายการที่มีเนื้อหาเหมาะสม มีสาระ มีประโยชน์ต่อเด็ก รวมทั้งปราศจากความรุนแรง อย่างถ้าเป็นการ์ตูน ก็ควรเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษา ความรู้ทั่วไป เป็นสารคดี หรือเป็นการ์ตูนที่สร้างจินตนาการให้กับเด็ก ควรหลีกเลี่ยงการ์ตูนที่มีการสู้รบ ยิงกันตูมตาม หรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการ์ตูนที่มีแสงสีเสียงเกินกว่าที่เด็กวัยเล็กจะรับได้

 
...นอกจากนี้ ก็ควรมีมาตรการต่างๆ ภายในบ้าน เช่น กำหนดให้ลูกดูโทรทัศน์ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเกินก็ต้องมีการลงโทษ เช่น งดให้ดูในวันถัดไป หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยวางโปรแกรมจัดตารางรายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับลูก เช่น ให้เด็กเขียนรายการที่ต้องการดูในแต่ละวัน ให้เขาสามารถดูช่วงเวลาใดหรือวันใดได้บ้าง เป็นต้น ที่สำคัญ ไม่ควรอนุญาตให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนของลูก ควรให้เขาดูในห้องกลาง เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถดูแลได้สะดวกค่ะ” 

พ.ญ.นันทกรณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา 
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
ขอขอบคุณ โรงพยาบาลปิยะเวท

 การควบคุมการดูโทรทัศน์สำหรับเด็ก 

                1. ทารกที่อายุไม่ถึง 1 ขวบ ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์หรือวีดีโอเลย 
                2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ไม่ควรดูโทรทัศน์  เกิน 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (วันละไม่เกิน 1 ชม.) 
                3. เด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปควรปฏิบัติ ดังนี้ 
                          - ช่วยกันวางโปรแกรมในการ  จัดตารางรายการที่เด็กชอบ 
                          - ให้เด็กเขียนรายการที่ต้องการ ดูในแต่ละวัน 
                          - ให้เวลา 1 ชม. ต่อวันในการ ดูโทรทัศน์ในวันไปโรงเรียน 
                          - ให้เวลา 2 ชม. ต่อวันในการ  ดูโทรทัศน์ในวันหยุด
                          - ถ้าเด็กดูรายการพิเศษติดกัน 2 ชม. ในวันไปโรงเรียนต้องงดดูคืนถัดไป 
                4.ไม่ควรอนุญาตให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนการควบคุมควรกระทำอย่างจริงจังจะสามารถ  บรรลุตามเป้าหมายเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพ่อแม่มี บทบาทสำคัญมาก จะเป็นแบบอย่างสำหรับเด็กสำหรับ การทำงานการอยู่ร่วมกัน หรือมีเวลาสงบเงียบสำหรับ การพักผ่อนเพื่อให้ครอบครัวที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  

 

view